บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สมมุติสัจจะ ปรมัตถ์สัจจะเป็นของนำเข้า

โดยปกติ ถ้าอ่านหนังสือของพุทธวิชาการ จะพบเห็นคำว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ” อยู่เสมอๆ 

จนกระทั่งพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ คิดไปว่า คำทั้ง 2 คำนั้น  เป็นคำในศาสนาพุทธเถรวาทมาตั้งแต่ดั้งเดิม  แต่ในความเป็นจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่

คำว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ” ไม่ใช่ของดั้งเดิมในศาสนาพุทธเถรวาทของไทย  เป็นของนำเข้ามาโดยพุทธวิชาการ

พุทธวิชาการพวกนี้ มีความคลางแคลงคำสอนในพระไตรปิฎกว่า “ไม่จริง” ทั้งหมด “เป็นจริงแต่เพียงบางส่วน” เท่านั้น  เพราะ หันไปสมาทานเชื่อถือวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันที่ตกยุคไปแล้ว

ด้วยอิทธิพลของวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไกของนิวตัน ทำให้พุทธวิชาการเหล่านั้น เห็นว่า พระไตรปิฎกเป็นเรื่องเล่า (myth) ชนิดหนึ่ง  เชื่อได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อต้องการให้คนทำความดีเท่านั้น

พุทธวิชาการจำพวกนั้น ก็จะกระทำอย่างเช่นนักวิชาการทั่วไปกระทำกันคือ สกัดเอาบางส่วนที่เห็นว่าวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไกของนิวตันยอมรับได้เท่านั้น

เรื่องที่วิทยาศาสตร์เก่ารับไม่ได้ ก็ตัดทิ้งไป เช่น เรื่อง นรก สวรรค์ อิทธิปาฎิหาริย์ เป็นต้น

การกระทำอย่างนั้น เป็นการลดความสำคัญของพระไตรปิฏกลงไป  เนื้อหาของพระไตรปิฏกจำนวนมาก จึงขัดกับความเชื่อของพุทธวิชาการเหล่านั้นที่ว่า "ตายแล้วเกิด" เพียงหนเดียวเท่านั้น

พุทธวิชาการเหล่านั้ เชื่อถือไปตามนักวิทยาศาสตร์ที่คิดว่า การเกิดของมนุษย์เป็นเพียงอุบัติการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้น

แต่ในพระไตรปิฎกมีเนื้อหามีกล่าวถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด  การบำเพ็ญบารมีกันเป็นอสงไขยของพระอรหันต์และพระโพธิสัตว์ ซึ่งก็สนับสนุนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด 

ดังนั้น  พุทธวิชาการจึงต้อง "นำเข้า" (import) คำใหม่ๆ เข้ามา เพื่ออธิบายให้เนื้อหาของพระไตรปิฎก หันเหไปตามความเชื่อของพวกเขาเหล่านั้น

สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ” เป็นตัวอย่างอันดีของ "สิ่งนำเข้า" อันแปลกปลอมที่นำมาเพื่อพยายามอธิบาย ตีความ ตกแต่ง และจับยัดศาสนาพุทธให้เข้ากับวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก

ตัวอย่างความเชื่อเรื่อง “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ

ก่อนที่จะอธิบาย สิ่งเสียหายร้ายแรงต่อเนื้อหาของพระไตรปิฎกที่เกิดจากคำอธิบายเรื่อง “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ” ของพุทธวิชาการ

ผมขอยกตัวอย่างพุทธวิชาการ ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับมโนทัศน์ของ “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ” ก่อนดังนี้

คนแรกก็คือ คุณสุชีพ  ปุญญานุภาพ เขียนไว้ในหนังสือของท่านหลายๆ แห่งว่า "พระพุทธศาสนาสอนให้รับรองความจริง ทั้งโดยสมมติ ทั้งโดยปรมัตถ์ เพื่อให้เข้ากับโลกได้ เข้ากับธรรมได้ ไม่เสียทั้งทางโลกทางธรรม แต่โดยปกติจะสอนให้รู้เท่าทันและไม่ติดไม่ยึด"

อาจารย์สมภาร พรมทาก็เขียนไว้ในหลายๆ แห่งว่า ทำไมเราไม่เข้าใจโลกและสรรพสิ่งง่ายๆ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงสอน คือ ยอมรับว่า สัจจะมีอยู่สองระดับ ระดับแรก เรียกว่า สมมติสัจจะ ส่วนระดับต่อมาเรียกว่า ปรมัตถสัจจะ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี พุทธวิชาการ ซึ่งเชื่อว่า “สมมุติสัจจะ”  กับ “ปรมัตถสัจจะ” เป็นของในพุทธศาสนาเถรวาทนั้น  ก็สามารถแบ่งออกอย่างคร่าวๆ ได้เป็น 2 กลุ่มเหมือนกัน

กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เชื่อปรัชญาตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา  โดยเห็นว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ” นั้นแยกจากกันอย่างเด็ดขาด

กลุ่มนี้เห็นว่า “สมมุติสัจจะ” นั้นไม่จริง ไม่ควรยึดถือ  ถ้าอ่านหนังสือของพุทธวิชาการกลุ่มนี้ ก็จะพบเห็นเนื้อหาทำนองว่า นรก สวรรค์ไม่มี  รูปพรหม อรูปพรหมไม่มี  เพราะ เป็นของสมมุติหรือเป็นสมมุติสัจจะ

พวกที่เชื่อไปสุดกู่เลย  ถึงกับบอกว่า ตัวตนไม่มี เพราะ ตัวตนเป็นของสมมุติ ไม่มีจริง ไม่ควรยึดถือ  สิ่งที่เป็นจริงคือ “ปรมัตถสัจจะ” เท่านั้น ซึ่งพวกนี้ก็หมายถึงนิพพานเป็นหลัก

กลุ่มคนพวกแรกนี้  ผมสงสัยว่า ถ้าโดนคนตบหน้า หรือถูกขโมยของของตนเองไป ก็ไม่น่าจะมีความรู้สึกอะไร เพราะ ตัวตนไม่มีเสียแล้ว  จะไปเจ็บหน้า หรือโมโหขโมยได้ยังไง

อันที่จริงแล้ว ตัวอย่างของพุทธวิชาการกลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่เชื่อว่า “สมมุติสัจจะ” นั้นไม่จริง ไม่ควรยึดถือ มีเป็นจำนวนมากกว่านี้ เป็นพระภิกษุของพุทธเถรวาทเองก็มาก ถ้าอ่านหนังสือพุทธวิชาการบ่อยๆ  ต้องเห็นความคิดของกลุ่มนี้อย่างแน่นอน

อีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ” เป็นจริงทั้งคู่ แต่จริงคนละแบบ คือ  “สมมุติสัจจะ” เป็นความจริงที่สัมผัสได้ด้วยหู ตา จมูก ลิ้น และกาย ส่วน “ปรมัตถสัจจะ” เป็นความจริงที่แยกทอนจนถึงขั้นสุดท้ายไป เช่น น้ำก็คือ ไฮโดรเจนผสมกับออกซิเจน เป็นต้น

ถ้าว่ากันตามฟิสิกส์ใหม่ สิ่งที่เล็กที่สุดในปัจจุบันที่ค้นพบก็คือ เส้น (string) เป็นต้น  กลุ่มหลังนี้ก็มีคุณสุชีพ ปุญญานุภาพกับอาจารย์สมภาร พรมทา เป็นต้น

********************************

Dr. Manas Komoltha  (Ph.D. Integrated Sciences)
Faculty of Sciences and Liberal Arts
Rajamangala University of Technology Isan



1 ความคิดเห็น:

  1. แล้ว สมมติบัญญัติ กับ ปรมัตถบัญญัติล่ะครับ
    เป็นของเดิม หรือของนำเข้า

    ความหมายของสองสังกัปดังกล่าว ก็คล้ายๆกับ สมมติสัจ กับ ปรมัตถสัจนั่นแหละครับ

    ตอบลบ