บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สมมุติสัจจะ ปรมัตถ์สัจจะต้องจริงทั้งคู่

คำอธิบาย “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ”ของพุทธวิชาการผิดพลาดอย่างไร

คำว่า ปรมัตถบัญญัติของพุทธเถรวาท ซึ่งมี 4 ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน อธิบายกันอย่างซื่อตรง 

ก็ควรจะอธิบายได้ว่า จิต เจตสิก รูปเป็นสังขตธรรม ยังมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่  ส่วนนิพพานเป็น อสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว

สมมุติบัญญัติ เป็นการตั้งชื่อเรียกกับสิ่งของที่มีในภพ ๓  เป็นความจำเป็นทางภาษา ถ้าไม่อย่างนั้น ก็สื่อสารกันไม่ได้ 

ส่วน ปรมัตถบัญญัติจิต เจตสิก รูป นิพพาน” นั้น เป็นคำอธิบายสิ่งที่เป็นพื้นฐานลึกที่สุด  ในส่วนที่เป็นสังขตธรรม ยังมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่ ก็คือ จิต เจตสิก รูป 

สำหรับส่วนที่เป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็มี นิพพาน คำเดียว

ถ้าเปรียบเทียบกับกลศาสตร์ควอนตัมของฟิสิกส์ใหม่ก็น่าจะเป็น ควาร์ก (Quark) แต่จะเป็นควาร์กประเภทไหน อัพควาร์ก (Up Quark) ดาวน์ควาร์ก (Down Quark) บัตทอมควาร์ก (Bottom Quark) และอื่นๆ อีก ก็ว่ากันไป

แทนที่จะอธิบายกันอย่างซื่อตรง พุทธวิชการกลุ่มนี้ กลับอธิบายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในภพสามนี้ ไม่จริงทั้งหมด เพราะเป็น “สมมุติสัจจะ” สิ่งที่เป็นจริงมีเพียง จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เพราะเป็น “ปรมัตถสัจจะ”เท่านั้น

พ่อ แม่ พี่ น้อง เทวดา ดิน ฟ้า อากาศ ไม่จริงทั้งหมดทั้งสิ้น

ข้อความที่พุทธวิชาการใช้อธิบายที่พบเห็นได้โดยทั่วไปก็เช่น สภาวะของพ่อแม่ลูกนี้เป็นความจริงโดยสมมุติ หรือเป็นสมมุติสัจจะ เมื่อพิจารณากันในทางความจริงแท้หรือปรมัตถสัจจะแล้วไม่เป็นความจริง เป็นต้น

ข้อความที่อธิบายดังกล่าวนั้น ผิดพลาดคลาดเคลื่อนโดยสิ้นเชิง โดยผมมีคำอธิบายประกอบดังนี้

1) จากหลักการของทางภาษาศาสตร์

ด้านโครงสร้างของคำ
คำว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ”เมื่อพิจารณาด้านโครงสร้างของคำแล้ว พบว่า สัจจะเป็นคำนามหลัก  แล้วนำคำว่า สมมุติกับ ปรมัตถมาขยายจึงเกิดเป็น 2 คำขึ้นมา 

ดังนั้น แกนหลักในด้านความหมายของคำ อยู่ที่คำว่า สัจจะ

ความหมายในทางภาษาศาสตร์ของคำว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ”ต้องเป็นความจริงทั้งคู่

โดยเป็นความจริงโดยสมมุติประเภทหนึ่ง และเป็นความจริงโดยปรมัตถอีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ว่า ปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงแท้  ส่วนสมมุติสัจจะคือ ความไม่จริง

บางท่านดูโครงสร้างของคำแล้ว อาจจะโต้แย้งในใจได้ว่า คำว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ”นั้น  คำว่า สมมุติกับปรมัตถ น่าจะเป็นคำหลัก และนำเอาคำว่า สัจจะเข้ามาขยาย เพราะ โครงสร้างของคำในภาษาไทยนั้น คำขยายอยู่หลังคำหลัก เช่น บ้านใหญ่ เป็นต้น  คำว่า ใหญ่เป็นคำขยาย

ในฐานะที่เป็นนักภาษาศาสตร์และเป็นครูภาษาไทยขออธิบายในหลักการของวิชาภาษาต่างประเทศในภาษาไทยว่า คำภาษาต่างประเทศที่เข้ามาในภาษาไทยนั้น อาจจะเข้ามาด้วยการแปล หรือคำทับศัพท์ก็ได้

เช่น คำว่า football นี้ เมื่อแรกเข้ามา เราแปลว่า หมากแข้งคงไปเลียนแบบคำว่า หมากเก็บ”, “หมากรุก”  แค่คนไทยไม่นิยมใช้ เลยต้องมาใช้การทับศัพท์ว่า ฟุตบอล”  จนติดตลาดมาจนถึงทุกวันนี้

คำว่า โทรเลขซึ่งไปรษณีย์หยุดบริการไปแล้วนั้น มาจากคำว่า “telegram”  ซึ่งแต่แรกเราใช้การทับศัพท์ว่า ตะแล็บแก๊บถึงแม้จะเป็นการทับศัพท์ที่ฝรั่งก็ฟังไม่ออก ก็ได้รับความนิยมใช้อยู่ยุคหนึ่ง  จนมาถึงคำแปลว่า โทรเลข

คำว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ”นั้น เราก็รับมาโดยการทับศัพท์เช่นเดียวกัน มีนักวิชาการใช้คำภาษาไทยในความหมายของคำทั้งสองว่า ความจริงโดยสมมุติและความจริงโดยปรมัตถ์

ด้านความหมายของคำ
คำว่าสมมุตินี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 กล่าวว่าเขียนได้ 3 แบบคือ สมมต, สมมติ, และสมมุติ และให้ความหมายไว้ดังนี้

ก. รู้สึกนึกเอาว่า เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง
ว. ที่ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คำนึงถึงสภาพที่แท้จริง เช่น สมมติเทพ

ความหมายนั้นของคำว่า สมมุติดังกล่าวไม่ตรงกับความหมายในพระไตรปิฎกนัก ความหมายของคำว่า สมมุติในพระไตรปิฎกก็คือ ข้อตกลงที่จะให้เรียกกันเช่นนั้น

พูดง่ายก็คือ พูดง่ายๆ ว่า มี "สิ่ง" (thing) อยู่ ก็ต้องตั้งชื่อเรียกกัน เป็นความจำเป็นทางภาษาที่จะต้องตั้งชื่อหรือกำหนดให้ ไม่อย่างนั้นก็สื่อสารกันไม่ได้[2]

จะเห็นว่า คำว่า "สมมุติ" ในภาษาบาลีก็คือ การตั้งชื่อของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่า สิ่งใดจริงหรือไม่จริง

แต่พุทธวิชาการไปแปลตามคำว่า "ติ๊ต่าง" ของเด็กๆ  จึงพาพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เข้ารกเข้าพง เข้าอบายภูมิไปเป็นจำนวนมาก

ในพระไตรปิฎกของพุทธเถรวาท จึงมีคำเฉพาะ สมมติบัญญัติ กับ ปรมัตถบัญญัติเท่านั้น ไม่เคยมี สมมุติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ และไม่ใช่ว่า สมมติบัญญัติเป็นของไม่จริง ส่วนปรมัตถบัญญัติเป็นของจริง

ความแตกต่างระหว่างสมมติบัญญัติกับปรมัตถบัญญัติมีดังนี้

สมมุติบัญญัติ” คือ สิ่งที่อยู่ในภพสามทั้งหมด โปรดอย่าลืมว่า “สมมุติบัญญัติ” ความจำเป็นที่จะต้องตั้งชื่อเรียกกันเป็นหลักไว้ก่อน

สิ่งที่เป็นสมมุติบัญญัติทั้งหมดในศาสนาพุทธเถรวาทมีลักษณะประจำตัวอยู่คือ ยังเป็นสังขตธรรม ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งอยู่  สิ่งไหนที่เป็นสังขตธรรม ก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ด้วย คือ ต้องเป็นอนิจจัง/ทุกขัง/อนัตตา

ปรมัตถบัญญัติมี 4 ประการคือ
1) จิต
2) เจตสิก
3) รูป
4) นิพพาน

ปรมัตถบัญญัติ นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้ คือ จิต เจตสิก รูปยังเป็นสังขตธรรม ยังคงถูกปัจจัยปรุงแต่งอยู่ ก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ ต้องเป็นอนิจจัง/ทุกขัง/อนัตตา

ส่วนนิพพานนั้น เป็นอสังขตธรรมแล้ว พ้นเหตุแห่งปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เป็นนิจจัง/สุขัง/อนัตตาแล้ว จะเห็นว่า สมมติบัญญัติกับปรมัตถบัญญัติไม่เกี่ยวกับความจริงหรือความไม่จริงแต่อย่างใด

โดยสรุปในด้านภาษาศาสตร์ พุทธวิชาการไม่เข้าใจหลักของภาษาศาสตร์ พุทธวิชาการจึงนำเอามโนทัศน์เรื่องสมมุติสัจจะ-ปรมัตถสัจจะเข้ามาใช้อย่างผิดพลาด

2) จากหลักการของตรรกวิทยา
คำอธิบายที่ว่า สมมุติสัจจะถ้าพิจารณาในแง่ของปรมัตถสัจจะแล้ว สมมุติสัจจะไม่จริงนั้นไม่สมเหตุสมผลในตัวคำอธิบายเอง

พิจารณาอย่างหยาบๆ เลย ก็เป็นว่า “สมมุติสัจจะ” ก็ควรจะพิจารณากันในแง่ของ “สมมุติสัจจะ” ทำไมจะต้องไปเอา “ปรมัตถสัจจะ”เข้ามาเป็นเกณณ์ในการพิจารณา

ขอให้ผู้อ่านลองเขียนวงกลมวงใหญ่ 1 วง ซึ่งกำหนดให้เป็นวงของ  สัจจะ

หลังจากนั้นก็เขียนวงกลมเล็กอีก 2 วง ให้อยู่ในวงกลมวงใหญ่นั้น และไม่ให้ทับซ้อนกัน วงหนึ่งเป็นของ “สมมุติสัจจะ” อีกวงหนึ่งเป็นของ “ปรมัตถสัจจะ

ที่เขียนเป็นวงกลม 2 วงไม่เกี่ยวข้องกันก็เพราะว่า ผู้ที่อธิบายข้อความข้างต้นนั้น มีหลักการว่า “สมมุติสัจจะ” กับ “ปรมัตถสัจจะ”ไม่เกี่ยวข้องกัน

เมื่อเป็นวงกลมคนละวงกัน หรือเป็นคำศัพท์คนละคำกัน มีสถานะและศักดิ์ศรีเท่ากัน ทำไมจะต้องเอา “ปรมัตถสัจจะ”มาเป็นตัวกำหนดว่า “สมมุติสัจจะ” จริงหรือไม่จริง

ขอยกตัวอย่างดังนี้ 
มีครอบครัวหนึ่งคือ นายแดง นางดำ มีลูกชื่อนายขาว  นายขาวโตขึ้นก็บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  จนบรรลุพระอรหันต์เข้าสู่ขอบเขตของ “ปรมัตถสัจจะ”คือ เข้าขอบเขตของนิพพานแล้ว

ตรงนี้จะทำอย่างไร พระอรหันต์ขาวยังเป็นบุตรของนายแดง นางดำอยู่หรือปล่าว ซึ่งถ้าเชื่อตามพุทธวิชาการก็ต้องกล่าวว่า พระอรหันต์ขาวไม่ใช่เป็นบุตรของนายแดง นางดำแล้ว เพราะ เป็นเรื่องไม่จริง

พระอรหันต์ขาวก็ไม่ต้องทำบุญหรืออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับนายแดงกับ นางดำเลย เพราะ เป็นสภาวะของสมมุติสัจจะ ซึ่งไม่เป็นความจริง

แต่ปรากฏว่า ในพระสูตรมีข้อความเป็นจำนวนมาก ที่พระอรหันต์ต้องไปช่วยบิดามารดาของตนเอง  ไม่ใช่เฉพาะบิดาและมารดาในชาตินี้  แม้กระทั่งบิดาและมารดาในหลายๆ ชาติที่ผ่านมาแล้วก็ยังไปช่วยกันได้อยู่ ดังเช่นกรณีของพระสารีบุตร เป็นต้น

ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้บุคคลจะพัฒนาตนเองจนหลุดพ้นขอบเขตของ “สมมุติสัจจะ” ไปแล้ว “สมมุติสัจจะ” ก็ยังเป็นความจริงอยู่  แต่เป็นความจริงที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงตามหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเท่านั้นเอง

จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นว่า ข้อความที่ว่า สมมุติสัจจะถ้าพิจารณาในแง่ของปรมัตถสัจจะแล้ว สมมุติสัจจะไม่จริงนั้นไม่สมเหตุสมผลแต่ประการใด

ผู้เขียนหรือผู้กล่าวข้อความดังกล่าว ตกอยู่ในความครอบงำของศาสตร์ตะวันตก คิดว่าตายแล้วเกิดชาติเดียว นรก-สวรรค์ไม่มี การเวียนว่ายตายเกิดไม่มี ก็พยายามที่จะอธิบายให้เข้ากับความเชื่อ/ความเห็นของตนเท่านั้น

------------------------------------
อ้างอิง
[2] ตรงนี้เป็นข้อควรระวังอย่างมากในการนำคำศัพท์ในศาสนาพุทธ ที่เรามาใช้กันในความหมายใหม่แล้ว แล้วกลับเข้าไปแปลข้อความของพระไตรปิฎกอีกครั้งหนึ่ง  อาจจะทำให้การตีความพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไปได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น